20.11.52

mobile network


ว่าด้วยเรื่องระบบ 3G (Third Generation Mobile Network)

ในช่วงที่ผ่านมานี้หลายคนคงได้ยินคำว่า 3G กันเป็นประจำจากทางสื่อต่างๆ ซึ่งต่างก็ร่วมกันผลักดันให้เทคโนโลยี 3G เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน หลังจากที่เป็นโครงการถูกดองมานานนมเน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากปัจจัยต่างๆ ในวันนี้หรือเร็วๆนี้ ชาวไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่คงได้ทดลองใช้งานเทคโนโลยี 3G กันอย่างจริงจังสักที แต่ก่อนที่จะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว เราลองมาทำความรู้จักเจ้าเทคโนโลยีตัวนี้กันให้มากขึ้นอีกสักนิด เพื่อจะได้เข้าใจและใช้งานมันได้อย่างถูกต้อง
3G คือ มาตรฐานโทรศัพท์มือถือในยุคที่ 3 ซึ่งถูกพัฒนาและกำลังมาแทนที่ ระบบโทรศัพท์ 2G เทคโนโลยีการสื่อสาร 3G นั้นพัฒนาบนพื้นฐานของมาตรฐาน International Mobile Telecommunications 2000 (IMT-2000) โดยพัฒนามาจาก GPRS และ EDGE และที่สำคัญ คือ เป็นพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน ทำให้สามารถส่งผ่านข้อมูลในระบบไร้สายด้วยอัตราความเร็วที่สูงขึ้น ในแง่ของขีดความสามารถและคุณภาพสำหรับเสียงและข้อมูล อุปกรณ์ 3G จะอยู่ในรูปของเครื่องมือสื่อสารมัลติมีเดียแบบพกพา ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและรับส่งข้อมูลมัลติมีเดียได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยอุปกรณ์การสื่อสารในยุค 3G นั้นจะเป็นอุปกรณ์ผสมผสานการนำเสนอข้อมูลและเทคโนโลยีในปัจจุบันเข้าด้วยกัน เช่น โทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบ 3G เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันนี้มีโทรศัพท์ประเภทนี้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก สำหรับเทคโนโลยี 3G นั้นได้มีในประเทศไทยแล้ว โดยมีใช้ได้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดเชียงใหม่ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดการใช้บริการ 3G ได้จากบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายการสื่อสารไร้สายในประเทศไทย เช่น AIS, DTAC และ TrueMove ซึ่งในขณะนี้ทาง AIS หรือ DTAC ได้นำระบบ 3G แบบ HSDPA มาให้บริการ มีความเร็วในการ Download จะอยู่ที่ 7.2Mbps

ลักษณะเด่นของเทคโนโลยี 3G

1. ต้องมี แพลทฟอร์ม (Platform) สำหรับการหลอมรวมของบริการต่างๆ อาทิ กิจการประจำที่ (Fixed Service) กิจการเคลื่อนที่ (Mobile Service) บริการสื่อสารเสียง ข้อมูล อินเทอร์เน็ต และ พหุสื่อ (Multimedia) เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ สามารถถ่ายเท ส่งต่อข้อมูล ดิจิตอล ไปยังอุปกรณ์โทรคมนาคมประเภทต่างๆ ให้สามารถรับส่งข้อมูลได้

2. ความสามารถในการใช้โครงข่ายทั่วโลก (Global Roaming) คือ ผู้บริโภคสามารถ ถืออุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้ได้ทั่วโลก โดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่อง

3. บริการที่ไม่ขาดตอน (Seamless Delivery Service) คือ การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนเซลล์ไซต์ (Cell Site)

4. อัตราความเร็วในการส่งข้อมูล (Transmission Rate) ในมาตรฐาน IMT-2000 นั้นกำหนดไว้ว่าต้องมีอัตราความเร็วดังนี้

- ในสภาวะอยู่กับที่หรือขณะเดิน มีความเร็วอย่างน้อยที่สุด 2 เมกะบิต/วินาที
- ในสภาวะเคลื่อนที่โดยยานพาหนะ มีความเร็วอย่างน้อยที่สุด 384 กิโลบิต/วินาที
- ทุกสภาวะ มีความเร็วอย่างมากที่สุด 14.4 เมกะบิต/วินาที

เมื่อเปรียบเทียบเทคโนโลยี 2G กับ 3G แล้วจะพบว่า 3G มีช่องสัญญาณความถี่และความจุในการรับส่งข้อมูลที่มากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลแอพพลิเคชั่น รวมทั้งระบบเสียงดีขึ้น พร้อมทั้งสามารถใช้บริการมัลติมีเดียได้เต็มที่และสมบูรณ์แบบขึ้น เช่น บริการส่ง Fax, โทรศัพท์ต่างประเทศ, การประชุมทางไกลผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสาร ดาวน์โหลดเพลง, ชมภาพยนตร์แบบสั้นๆ เป็นต้น ซึ่งคุณสมบัติหลักของเทคโนโลยี 3G คือ การเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายของ 3G อยู่ตลอดเวลา (always on) ที่เราเปิดเครื่องโทรศัพท์ นั่นคือไม่จำเป็นต้องต่อโทรศัพท์และ Log In ทุกครั้งเพื่อใช้บริการรับส่งข้อมูล

จากการที่ 3G สามารถรับส่งข้อมูลในความเร็วสูง ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีรูปแบบใหม่มากขึ้น ประกอบกับอุปกรณ์สื่อสารไร้สายในระบบ 3G สามารถให้บริการระบบเสียงและแอพพลิเครชั่นรูปแบบใหม่ เช่น จอภาพสีความละเอียดสูง, เครื่องเล่น mp3, mp4 , การดาวน์โหลดเกม, การแสดงแผนที่ออนไลน์ เป็นต้น ทำให้การสื่อสารเป็นแบบ Interactive ที่สามารถสร้างความบันเทิงและสมจริงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเทคโนโลยี 3G จึงช่วยให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายและคล่องตัวมากขึ้นด้วย โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์แบบพกพา-เครื่องเล่นมีเดียส่วนตัว-กล้องถ่ายรูป ซึ่งผู้ใช้สามารถเช็คข้อมูลใน accont ส่วนตัวเพื่อใช้บริการต่างๆผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทันที เช่น อ่านข่าวออนไลน์, ดูคลิป, ข้อมูลทางการเงิน, ดูแผนที่และข้อมูลท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังสามารถใช้บริการมัลติมีเดียได้เต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการใช้งาน 3G คือ การมีโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย 3G ของผู้ให้บริการได้ ซึ่งในปัจจุบันมีให้เห็นหลายรูปแบบ หลายลักษณะในตลาดอุปกรณ์การสื่อสารไร้สาย เช่น iPhone 3G, Nokia, HTC หรือ Dopod รุ่นใหม่ๆที่มีฟังค์ชั่นรองรับระบบ 3G ในทำนองเดียวกัน หากต้องการใช้โน้ตบุ๊คหรือคอมพิวเตอร์แบบพกพาเชื่อมต่อกับเครือข่าย 3G นั้นจำเป็นต้องใช้ Air Card เป็นอุปกรณ์หลักสำหรับการเชื่อมต่อด้วยเช่นกัน

ข้อควรระวังในการเลือกซื้อ AirCard ที่รองรับระบบ 3G : คลื่นความถี่ 3G ที่ใช้กันทั่วโลก จะใช้อยู่ 3 ความถี่ที่เป็นมาตราฐานคือ 850 , 1900 และ 2100 ซึ่งประเทศไทยจะแบ่งได้ดังนี้

1. คลื่นความถี่ ( band ) 850 จะถูกพัฒนาโดย Dtac และ True
2. คลื่นความถี่ ( band ) 2100 คาดว่าจะถูกพัฒนาโดย AIS (อยู่ในขั้นตอนการประมูล)
3. คลื่นความถี่ ( band ) 1900 ยังไม่แน่ชัดว่าจะถูกปล่อยออกโดยบริษัทไหน

ดังนั้นการเลือกซื้อ Air Card, Router หรือ โทรศัพท์มือถือ และต้องการให้รอบรับ 3G ควร check ให้ดีก่อนว่าสามารถรองรับได้ทั้ง 3 คลื่นหรือเพียงบางคลื่นเท่านั้น

เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่นี้ ดูเหมือนจะช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น นอกจากจะเพื่อความบันเทิง เช่น สามารถฟัง Imeem, คุย MSN, เล่น Facebook หรือแม้แต่ดู Youtube จากที่ไหนก็ได้ผ่านมือถือแล้ว ยังช่วยทำให้ชีวิตใครหลายๆคน connect กันได้ตลอดเวลานาทีด้วยเช่นกัน คิดๆแล้วก็อยากลองใช้จริงๆซะแล้วสิ....

แหล่งที่มา : notebook.com, th.wikipedia.com, tkc.go.th

mobile network

ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน